การจัดการเรียนรู้แบบ CBI

CBI Model 

การสอนภาษาโดยใช้เนื้อหาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ภาษา (Content - Based Instruction : CBI)
การเรียนภาษาต่างประเทศจะได้ผลมากที่สุดถ้าครูสอนให้ผู้เรียนใช้ภาษาในสถานการณ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ทั้งครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนภาษาที่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้ จะจัดการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนฝึกการใช้ภาษาในสถานการณ์ที่เหมือนจริง ครูสอนภาษาต่างประเทศในประเทศไทยส่วนใหญ่สอนทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลในระดับพื้นฐาน (Basic Interpersonal Communication Skills) ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนฝึกการใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหน้าที่ (Functions) ในสถานการณ์ซึ่งครูจำลองให้เหมือนชีวิตประจำวันมากที่สุด เช่นการซื้อของ การถามหรือการบอกทิศทาง การแนะนำตัวเอง เป็นต้น การสอนลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสื่อสารได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น  ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจำนวนมากจะศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น ไม่ว่าจะศึกษาต่อในสาขาวิชาใดก็ตามผู้เรียนจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ(Academic English) เพื่อศึกษาหาความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาการ การสอนภาษาโดยเน้นเพียงการสื่อสารในชีวิตประจำวัน จึงไม่สามารถเตรียมผู้เรียนให้มีความพร้อมในการใช้ภาษาอังกฤษในการศึกษาหาความรู้ต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสอนภาษา ได้ศึกษาเปรียบเทียบการเรียนภาษาเพื่อการสื่อสารระหว่างบุคคล และการเรียนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ สรุปว่า ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในระดับพื้นฐานได้ หลังจากการเรียนในระยะเวลา 2 ปีแต่ผู้เรียนไม่สามารถใช้ภาษาเชิงวิชาการได้ (Grabe และ Stoller, 1997, Cummins, 1983, 1989) ซึ่งถ้าผู้เรียนต้องการพัฒนาทักษะภาษาเชิงวิชาการด้านพุทธิพิสัย หรือ Cognitive Academic Language Proficiency (CALP) จะต้องใช้เวลาเรียนถึง 7 ปี(Cummins 1983, 1989) นอกจากนี้ Cummins ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ผู้เรียนส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ผู้เรียนย่อมจะมีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงควรเริ่มสอนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ โดยเน้นวิธีการสอนที่ใช้เนื้อหาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ภาษาในระดับมัธยมศึกษา
Brinton, Snow และ Wesche (1989) ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการสอนภาษาโดยใช้เนื้อหาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ภาษา หรือที่เรียกว่า Content – Based Instruction (CBI) ว่าเป็นการสอนที่ประสานเนื้อหาเข้ากับจุดประสงค์ของการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยมุ่งให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการศึกษาเนื้อหาพร้อมกับพัฒนาภาษาอังกฤษเชิงวิชาการผู้สอนที่ใช้แนวการสอนแบบนี้เห็นว่าครูไม่ควรใช้เนื้อหาเป็นเพียงแบบฝึกหัดทางภาษาเท่านั้น แต่ครูควรฝึกให้ผู้เกิดความเข้าใจสาระของเนื้อหา โดยใช้ทักษะทางภาษาเป็นเครื่องมือ ครูจะใช้เนื้อหากำหนดรูปแบบของภาษา (Form) หน้าที่ของภาษา (Function) และทักษะย่อย (Sub – Skills) ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้เพื่อที่จะเข้าใจสาระของเนื้อหาและทำกิจกรรมได้ การใช้เนื้อหาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ภาษานี้จะทำให้ครูสามารถสร้างบทเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงได้มากที่สุด ทั้งนี้ครูจะต้องเข้าใจการสอนแบบบูรณาการหรือทักษะสัมพันธ์ ตลอดจนเข้าใจเนื้อหาและสามารถ ใช้เนื้อหาเป็นตัวกำหนดบทเรียนทางภาษา (Brinton, Snow, Wesche, 1989)  แนวการสอนแบบนี้ ครูจะประสานทักษะทั้งสี่ให้สัมพันธ์กับหัวเรื่อง (Topic) ที่กำหนดในการเลือกหัวเรื่องครูจะต้องแน่ใจว่าผู้เรียนมีทักษะและกลวิธีการเรียน(Learning Strategies) ที่จำเป็นเพื่อที่จะสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ การสอนภาษาแนวนี้เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเป็นการฝึกกลวิธีการเรียนภาษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจความหมายของภาษาและสามารถนำกลวิธีนี้ไปใช้ได้ตลอด ส่วนเนื้อหาและกิจกรรมการเรียน ครูสามารถปรับแต่งให้มีความหลากหลายมากขึ้น  กิจกรรมการเรียนการสอนในแนวนี้จะกระตุ้นให้ผู้เรียนคิด และเกิดการเรียนรู้ โดยผ่านการฝึกทักษะทางภาษา กิจกรรมเป็นแบบทักษะสัมพันธ์ที่สมจริง ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้เรียนได้ฟังหรืออ่านบทความที่ได้จากสื่อจริง (Authentic Material) แล้วผู้เรียนไม่เพียงแต่ทำความเข้าใจข้อมูลเท่านั้น แต่จะต้องตีความและประเมินข้อมูลนั้น ๆ ด้วย ดังนั้นผู้เรียนจะต้องรู้จักการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อที่จะสามารถพูดหรือเขียนเชิงวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ได้ จะเห็นได้ว่าผู้เรียนจะได้ฝึกทั้งทักษะทางภาษา (Language Skills) และทักษะการเรียน (Study Skills) ซึ่งจะเตรียมผู้เรียนให้พร้อมที่จะใช้ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการในสถานการณ์จริงในอนาคต 
การสอนแบบ CBI มุ่งเตรียมผู้เรียนให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อหาความรู้ทางวิชาการเพิ่มเติม ซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่แตกต่างไปจากการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารโดยมีแนวการเรียนการสอนที่สำคัญดังนี้ คือ
การสอนแบบยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner – Centered Approach)
การสอนที่คำนึงถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับภาษา (Whole Language Approach)
การสอนที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning)
การสอนที่เน้นการเรียนรู้จากการทำโครงงาน (Project – Based Learning)
              นอกจากนี้ยังเน้นหลักสำคัญว่า ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ภาษาได้ดี ถ้ามีโอกาสใช้ภาษาในสถานการณ์ที่เหมือนจริง และผู้เรียนจะใช้ภาษามากขึ้นถ้ามีความสนใจในเนื้อหาที่เรียน ดังนั้นผู้เรียนจึงต้องนำเนื้อหาที่เป็นจริงและสถานการณ์การเรียนรู้ที่สมจริงมาให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้ภาษา เพื่อที่จะทำความเข้าใจสาระของเนื้อหา โดยผู้เรียนสามารถใช้พื้นความรู้เดิมของตนในภาษาไทยมาโยงกับเนื้อหาของวิชาในภาษาอังกฤษ และที่สำคัญที่สุด คือ แนวการสอนแนวนี้ฝึกให้ผู้เรียนคิดเป็น สามารถวิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลที่ได้จากเนื้อหาที่เรียน และใช้ทักษะทางภาษาเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ ฉะนั้นการเรียนการสอนวิธีนี้จึงเหมาะสมกับการสอนภาษาในระดับประถมศึกษา

ทักษะการฟังภาษาอังกฤษ ( Listening Skill)
        ทักษะการฟังภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดความชำนาญ และมีความสามารถในการฟังอย่างเข้าใจในสารที่ได้รับฟัง ครูผู้สอนควรมีความรู้และเทคนิคในการสอนทักษะการฟังอย่างไร จึงจะสามารถจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ประสบผลสำเร็จ 
การฟังในชีวิตประจำวันของคนเราจะเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ การฟังที่ได้ยินโดยมิได้ตั้งใจในสถานการณ์รอบตัวทั่วๆไป ( Casual Listening) และ การฟังอย่างตั้งใจและมีจุดมุ่งหมาย ( Focused Listening) จุดมุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์ของการฟัง คือ การรับรู้และทำความเข้าใจใน สารที่ผู้อื่นสื่อความมาสู่เรา ทักษะการฟังภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดความชำนาญ และมีความสามารถในการฟังอย่างเข้าใจในสารที่ได้รับฟัง ครูผู้สอนควรมีความรู้และเทคนิคในการสอนทักษะการฟังอย่างไร จึงจะสามารถจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ประสบผลสำเร็จ
ทักษะการพูด (Speaking Skill)
ไบเล่ย์ (Bailey, 2005) ให้ความหมายของการพูดและการสอนพูดไว้ดังนี้ 
         การพูด (speaking) หมายถึงการเปล่งเสียงออกมาเพื่อให้เกิดความหมาย การพูดเป็นการบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ผู้พูด ผ้ฟัง และข้อมูล การพูดเป็น productive skills เพราะผู้พูดเป็นผู้ให้ข้อมูล หรือเป็นผู้ส่งสาร การพูดกับการเขียนถือว่าเป็น productive skills ส่วนการฟังและการอ่านเป็น receptive skills เป็นการรับสาร   การสอนพูด (teaching speaking) ในยุคก่อนหมายถึงการให้ความช่วยเหลือผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ เสียง คำศัพท์ โครงสร้างหรือการสอนความรู้ด้านภาษา (linguistic competence)  โดยการสะสมความรู้ทีละเล็กที่ละน้อยนำมารวมกันแล้วในที่สุดก็ใช้ภาษาในการสื่อสารได้ เริ่มตั้งแต่ปี คศ. 1970 เป็นต้นมาเริ่มเปลี่ยนความคิดจากการการสอนความรู้ทางภาษามาเป็นการสอนให้ผู้เรียนมีความสามารถในการสื่อสาร ทั้งนี้เพราะในประเทศเจ้าของภาษา เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ อังกฤษ และอเมริกา เริ่มมีผู้อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในประเทศเหล่านั้น การสอนภาษาอังกฤษเพียงเพื่อให้มีความรู้ทางภาษาไม่สามารถช่วยให้ผู้อพยพสื่อสารได้ นักการศึกษาด้านภาษาที่สองจึงคิดวิธีการสอนขึ้นมาใหม่เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถในการสื่อสาร (communicative competence) ซึ่งผู้เรียนต้องสามารถใช้ภาษาเพื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นตามสถานการณ์และบริบทต่างๆ และ ยังต้องเข้าใจวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาด้วย 
ทักษะการอ่าน (Reading Skill)
การอ่านภาษาอังกฤษ  มี ลักษณะ คือ  การอ่านออกเสียง (Reading aloud) และ การอ่านในใจ  (Silent Reading )  การอ่านออกเสียงเป็นการอ่านเพื่อฝึกความถูกต้อง (Accuracy)  และความคล่องแคล่ว (Fluency)   ในการออกเสียง   ส่วนการอ่านในใจเป็นการอ่านเพื่อรับรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่อ่านซึ่งเป็นการอ่านอย่างมีจุดมุ่งหมาย เช่นเดียวกับการฟัง  ต่างกันที่ การฟังใช้การรับรู้จากเสียงที่ได้ยิน ในขณะที่การอ่านจะใช้การรับรู้จากตัวอักษรที่ผ่านสายตา ทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดความชำนาญและมีความสามารถเพิ่มพูนขึ้นได้  ด้วยเทคนิควิธีการโดยเฉพาะ  ครูผู้สอนจึงควรมีความรู้และเทคนิคในการสอนทักษะการอ่านให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้การอ่านแต่ละลักษณะประสบผลสำเร็จ   
ทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดความชำนาญและมีความสามารถเพิ่มพูนขึ้นได้  ด้วยเทคนิควิธีการโดยเฉพาะ  ครูผู้สอนจึงควรมีความรู้และเทคนิคในการสอนทักษะการอ่านให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้การอ่านแต่ละลักษณะประสบผลสำเร็จ   
ทักษะการเขียน (Writing Skill)
             การเขียน คือ การสื่อสารให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วยข้อความเป็นลายลักษณ์อักษร มีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดความคิดของผู้ส่งสารคือผู้เขียนไปสู่ผู้รับสารคือผู้อ่าน มากกว่าการมุ่งเน้นในเรื่องของการใช้คำและหลักไวยากรณ์ หรือ อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การเขียนเป็นการสื่อสารที่มุ่งเน้นความคล่องแคล่ว( Fluency) ในการสื่อความหมาย มากกว่าความถูกต้องของการใช้ภาษา ( Accuracy) อย่างไรก็ตาม กระบวนการสอนทักษะการเขียน ยังจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการสร้างระบบในการเขียน จากความถูกต้องแบบควบคุมได้(Controlled Writing) ไปสู่การเขียนแบบควบคุมน้อยลง (Less Controlled Writing) อันจะนำไปสู่การเขียนแบบอิสระ ( Free Writing) ได้ในที่สุด การฝึกทักษะการเขียนสำหรับผู้เรียนระดับต้น สิ่งที่ผู้สอนต้องคำนึงถึงให้มากที่สุด คือ ต้องให้ผู้เรียนมีข้อมูลเกี่ยวกับ คำศัพท์ ( Vocabulary) กระสวนไวยากรณ์ ( Grammar Pattern) และเนื้อหา ( Content) อย่างเพียงพอที่จะเป็นแนวทางให้ผู้เรียนสามารถคิดและเขียนได้ ซึ่งการสอนทักษะการเขียนในระดับนี้ อาจมิใช่การสอนเขียนเพื่อสื่อสารเต็มรูปแบบ แต่จะเป็นการฝึกทักษะการเขียนอย่างเป็นระบบที่ถูกต้อง อันเป็นรากฐานสำคัญในการเขียนเพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับสูงได้ต่อไป ครูผู้สอนควรมีความรู้และความสามารถในการจัดการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะการเขียนให้แก่ผู้เรียน ผู้เรียนจึงจะมีทักษะการเขียนภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการฟังภาษาอังกฤษ (Listening Skill)

การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ (Writing Skill)

การจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารตามรูปแบบ PPP (การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวธรรมชาติ)